Categories
News

อาหารผู้ป่วย กับโรคความดันโลหิตสูง

อาหารผู้ป่วย กับโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นความผิดปกติของร่างกายที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยพบความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงกว่าปรกติ (มากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท) อยู่เป็นเวลานาน และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรค หัวใจวาย โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองและแตกง่าย โรคอัมพาต ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิต ดังนั้น การรักษาโรคความดันโลหิตสูงจึงสามารถป้องกันโรคต่างๆ เหล่านี้ได้ ซึ่งการรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เหล่านี้ได้

หลักบริโภคอาหารเพื่อยับยั้งโรคความดันโลหิตสูง (DASH diet)

DASH (Dietary Approaches to Stop Hypertension) diet คือ แนวทางการบริโภคอาหารเพื่อลดความดันโลหิตสูง ซี่งมีหลักการ คือ ลดบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์และคอเลสเตอรอล และเพิ่มบริโภคใยอาหาร โปรตีน แคลเซียมโปแทสเซียมและแมกนีเซียม นอกจากนั้นการควบคุมอาหารควรทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รับประทานอย่างไร หากต้องใช้โปรแกรมอาหารแดช (DASH DIET)

– ลดอาหารรสจัดและมีโซเดียมสูง (จำกัดโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน) โดยลดหรือเลี่ยงเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หรือน้ำปลาไม่เกิน 3-4 ช้อนชาต่อวัน หรือซีอิ๊วขาวไม่เกิน 5-6 ช้อนชาต่อวัน อาหารแปรรูป เช่น กุนเชียง หมูยอ แฮม ไส้กรอก ไส้อั่ว ปลาเค็ม แหนม อาหารกระป๋องอาหารหมักดอง อาหารที่มีผงฟู เช่น เค้ก บราวนี่ ขนมปังไส้ต่างๆ

– ลดการรับประทานไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โดยเลือกใช้น้ำมันพืชในการปรุงประกอบ เลี่ยงการบริโภคไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เนยเทียม (มาการีน) อาหารจานด่วนต่างๆ เช่น พิชซ่า เบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอด

– เพิ่มอาหารที่มีใยอาหารสูงมากขึ้น โดยเน้นผักผลไม้สด ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช ถั่ว และเมล็ดถั่วเปลือกแข็ง

– รับประทานนมไขมันต่ำ (นมพร่องมันเนย) นมไร้ไขมัน (นมขาดมันเนย) และผลิตภัณฑ์นมเป็นประจำ

ตัวอย่างอาหารแดชตามหมวดหมู่

ธัญพืชชนิดต่างๆ – เน้นธัญพืชไม่ขัดสี มื้อละ 2-3 ทัพพี ใยอาหารสูงช่วยการขับถ่าย ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ได้แก่ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เผือก ลูกเดือย ฟักทอง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น

ผักและผลไม้ – กินผักให้ได้วันละ 3-5 ทัพพี ผลไม้ 2-3 ส่วน เน้นบริโภคผัก-ผลไม้สดหลายสี แทนดื่มน้ำผัก-ผลไม้ อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ใยอาหาร ลดความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ ได้แก่ บร็อกโคลี ผักสลัด กะหล่ำม่วง แอปเปิล กล้วยน้ำว้า มะละกอแก้วมังกร ฝรั่ง เบอรี่ ส้ม เป็นต้น

เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ – บริโภคเนื้อปลา 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โอเมกา 3 ช่วยลดโรคหลอดเลือดหัวใจ บริโภคไข่ อกไก่ เนื้อหมูสันใน ลดกินสัตว์เนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป (ไส้กรอก หมูยอ แฮม หมูสามชั้น หมูกรอบ) เนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ช่วยเสริมสร้างกล้าม เนื้อ ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ

นมพร่องมันเนย นมไขมันต่ำ โยเกิร์ตไขมันต่ำ – เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน

น้ำมันและไขมัน – น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ช่วยดูดซึมวิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน เป็นแหล่งพลังงานสำรองและส่วนประกอบเซลล์ร่างกายและสมอง

ถั่วชนิดต่างๆ – อัลมอนด์ ถั่วเลนทิล ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 4-5 ช้อนโต๊ะต่อสัปดาห์ ถั่วมีกรดไขมันที่ดี ทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 ช่วยการทำงานระบบประสาทและหัวใจ

อื่นๆ – น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ลดน้ำเชื่อมในเครื่องดื่ม ใช้สารให้ความหวานทดแทน ลดเกลือ อาหารหมักดอง อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง เนื้อสัตว์แปรรูป